หนี้ เป็นคำที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตัวเอง แต่บางครั้งเพราะความจำเป็นและเหตุผลส่วนตัวของหลายๆคน ทำให้ต้องก่อหนี้ การเป็นหนี้บางครั้งก็เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ตั้งใจ เช่น การค้ำประกันให้ญาติหรือเพื่อนรัก ต่อมาก็ถูกเพื่อนรักหักหลัง ปล่อยให้เราต้องใช้หนี้เพียงลำพัง แถมประโยชน์อันเกิดจากหนี้นั้นก็ไม่ได้ตกอยู่กับเราด้วย
หนี้มีหลายประเภท บางประเภทจัดอยู่ในพวกหนี้ที่ดี คือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ เช่นไปกู้เงินมาทำธุรกิจ จนถึงระยะเวลาหนึ่ง ธุรกิจนั้นออกดอกออกผล สร้างรายได้คืนมามหาศาล จนเกินพอ และเราก็นำเงินนั้นไปใช้หนี้ได้ แบบหนี้ถือเป็นหนี้ที่ดี แต่ส่วนใหญ่เราจะประสบปัญหาเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และยังทำให้รายได้หดหายไปด้วย เพราะต้องเจียดเงินที่หามาได้ไปใช้หนี้และดอกเบี้ยด้วย มีหนี้บางชนิดที่ไม่จำเป็นต้องก่อขึ้นมาเลยคือหนี้ที่จ่ายเพื่อให้เราดูดีในสังคม หากเรารู้จักเลือกกลุ่มเลือกสังคมที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ หนี้ก้อนนี้เป็นหนี้ที่ดูน่าตลกและเบาปัญญาที่สุด แต่หากเราพลาดพลั้งเป็นหนี้ไปแล้วทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ คงแก้ไขอะไรไม่ได้ ต้องตั้งหน้าตั้งตาใช้หนี้ โดยมีหลักการจัดการหนี้ดังนี้
5 วิธี หลักการจัดการหนี้
ขั้นที่ 1 สำรวจหนี้
คือต้องรวบรวมหนี้ทั้งหมดให้รู้ก่อนว่า เรามีหนี้อะไรบ้าง แต่ละอย่างมียอดหนี้เท่าไหร่ บางคนอาจมีหนี้นอกระบบ ก็ต้องแจกแจงออกมาให้ครบถ้วน ห้ามหมกเอาไว้ ต้องซื่อสัตย์และยอมรับความจริง
ขั้นที่ 2 ให้จำแนกแบ่งแยกว่า หนี้ก้อนไหนเป็นหนี้ที่ดี อันไหนเป็นหนี้เลว
หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ สร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ ข้อสำคัญคือต้องมั่นใจว่า เรามีความสามารถชำระหนี้ได้จนครบเต็มจำนวน และไม่ส่งผลกระทบกับเงินทองที่ใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน ส่วนหนี้เลว เป็นหนี้ไม่พึงประสงค์ มักเกิดจากนิสัยไม่ดีของเราเอง เช่น ยืมเงินเพื่อไปซื้อของหรูหราฟุ่มเฟือย เป็นหนี้เพื่อหน้าตาทางสังคม ก่อหนี้โดยการไปซื้อโทรศัพท์แพงๆ เกินความจำเป็น เป็นต้น การแยกหนี้ออกเป็นสองกลุ่มนี้ ก็เพื่อใช้ในการแยกแยะว่า เราต้องจัดการกับหนี้ตัวไหนก่อน
ขั้นที่ 3 คือจัดลำดับการใช้หนี้
โดยนำหนี้ที่เราคัดแยกมาแล้วในข้อสองมาจัดลำดับการใช้คืนหนี้ วิธีคือ เราจะต้องจัดการกับหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน ไม่ได้หมายความว่าหนี้อื่นๆจะไม่ใช้ หนี้อื่นที่ดอกเบี้ยไม่สูง ก็จ่ายด้วยยอดขั้นต่ำที่ต้องชำระ และเงินส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้โปะหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงๆก่อน เพื่อตัดภาระดอกเบี้ยออกไปให้ได้มากที่สุด
ขั้นตอนที่ 4 คือ ต้องไม่สร้างหนี้เพิ่มอีก
ตั้งเป็นกฎไว้เลยว่าตอนนี้ เราไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ เราเป็นหนี้คนอื่น เรามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ จะมาใช้ชีวิตหรือใช้จ่ายตามอำเภอใจไม่ได้แล้ว ตอนนี้ต้องตั้งหน้าตั้งตาชำระหนี้ให้หมดภาระไปก่อน ต้องยอมรับความผิดพลาดที่เราก่อขึ้นมา ต้องยับยั้งชั่งใจ และมีวินัยการเงินในขั้นสูงสุด และเราจะผ่านภาวะนี้ไปได้อย่างแน่นอน
ขั้นตอนที่ 5 ห้ามผิดนัดชำระหนี้
เพราะถ้าเราชำระหนี้ล่าช้า ก็จะถูกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้น และบางครั้งก็จะถูกเรียกเก็บค่าติดตามทวงถามด้วย กลายเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นมาโดยไม่จำเป็นอีก และที่ลืมไม่ได้คือ ต้องชำระหนี้ให้ครบถ้วนตามกำหนดจำนวนขั้นต่ำด้วย เพราะหากผิดเงื่อนไข ก็จะเรียกเก็บเบี้ยปรับได้
สรุป
จะเห็นว่าการสร้างหนี้เลว เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และนำมาซึ่งความยากลำบาก เป็นภาระในภายหลัง เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ ดังนั้นต่อจากนี้ก่อนจะใช้จ่ายหรือสร้างหนี้แต่ละครั้ง ต้องมีสติและคิดคำนวณให้ดี เพราะถ้าเป็นหนี้ขึ้นมาแล้ว เรามีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามกฎหมาย หากไม่ชำระหนี้ ก็จะมีความผิด และสร้างความเดือดร้อนให้ครอบครัวในทึ่สุด จากนี้ให้ถือคติว่า การไม่เป็นหนี้ เป็นเรื่องสุดประเสริฐ
เรียบเรียงบทความโดย boarddung.com