เปิดศักราชใหม่ หลายคนน่าจะเริ่มได้ยินข่าว คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ต่ออายุการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ปรับลดให้ 90% ในปี 2564 ทำให้ปี 2565-2566 จะมีการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มอัตรา ซึ่งแน่นอนว่านักลงทุนอสังหาฯ ที่ในพอร์ตมีทั้งบ้าน คอนโด หรืออาคารพาณิชย์ รวมทั้งที่ดินต่างๆ อาจได้รับผลกระทบกันไม่มากก็น้อย วันนี้จึงชวนมาทำความเข้าใจ และแนวทางการจัดการภาษีที่ดินกัน
ทำความเข้าใจ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายภาษีฉบับใหม่ที่มาแทนภาษีโรงเรือน และสิ่งปลูกสร้าง กับภาษีบำรุงท้องที่ โดยภาษีฉบับใหม่นี้ ถูกจัดเก็บโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล, องค์การบริหารส่วนตำบล, เมืองพัทยา และกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเป็นผู้ครอบครอง หรือทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของรัฐ ในวันที่ 1 ม.ค.
การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มีอัตราการเก็บที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประโยชน์จากการใช้ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง โดยแบ่งเป็น 4 ประเภท 1.เกษตรกรรม 2.ที่อยู่อาศัย 3.การใช้ประโยชน์อื่นๆ 4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยมีอัตราการเก็บภาษีดังนี้


โดยสูตรคำนวณภาษี คือ
ภาษีที่ต้องจ่าย = (ราคาประเมินทุนทรัพย์ของกรมที่ดิน – มูลค่ายกเว้น) X อัตราภาษี
ซึ่งทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายให้ ผู้เสียภาษีไม่ต้องคำนวณเอง
ขั้นตอนการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภายในเดือนกุมภาพันธ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ จะส่งหนังสือแจ้งบัญชีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ผู้เสียภาษีครอบครองมาทางไปรษณีย์ และส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมาให้ที่บ้านเช่นกัน ซึ่งเมื่อได้รับแล้วสามารถตรวจสอบรายละเอียด หากข้อมูลการประเมินไม่ถูกต้อง สามารถทำเรื่องโต้แย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน แต่หากข้อมูลถูกต้องครบถ้วน สามารถนำเอกสารชำระเงินผ่านช่องทางธนาคาร หรือที่ทำการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
โดยชำระภาษีภายใน 30 เม.ย. ของปีนั้น ซึ่งหากเสียภาษีตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป สามารถทำเรื่องขอผ่อนชำระ 3 งวด ระยะเวลา 3 เดือนได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละพื้นที่ได้มีการขยายระยะเวลาการชำระเงินภาษีที่แตกต่างกันออกไป จึงควรสอบถามการขยายเวลาของแต่ละพื้นที่โดยตรง
ผลกระทบ
ผู้เป็นเจ้าของ หรือครอบครองที่ดิน อสังหาฯ ได้รับผลกระทบมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนมูลค่า รวมทั้งประเภทที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ครอบครอง โดยหากเป็นกลุ่มที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภท เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย จะถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่ากลุ่มใช้ประโยชน์อื่นๆ(เชิงพาณิชย์) และที่รกร้างว่างเปล่า
ทางเลือกการจัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือแจ้งการประเมินภาษี มีการระบุข้อมูลการใช้ประโยชน์พื้นที่ถูกต้องหรือไม่ เช่นอาคารพาณิชย์ ชั้น 1 ใช้สำหรับเชิงพาณิชย์ ส่วนชั้น 2 และ 3 ใช้สำหรับพักอาศัย หากหนังสือเขียนระบุเพื่อเชิงพาณิชย์อย่างเดียว จะถูกเก็บอัตราภาษีที่สูงกว่าแบบที่พักอาศัย จะทำให้เราเสียภาษีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งสามารถทำเรื่องโต้แย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ภายใน 30 วัน
ใส่ชื่อในทะเบียนบ้านหลังที่ราคาสูงที่สุด ในกรณีมีบ้านหลายหลัง และเป็นเจ้าของที่ดินด้วย เนื่องจากบ้านหลังหลักจะได้รับยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก ในกรณีเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก ในกรณีเป็นเจ้าของเฉพาะสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งช่วยประหยัดภาษีได้
ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อให้ถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยลง ในกรณีมีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าประเภทอื่น โดยเปลี่ยนที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาทำเกษตรกรรมตามที่กฎหมายกำหนด หรือปล่อยเช่าเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ซึ่งสามารถเจรจาหรือระบุในสัญญาเช่าให้ผู้เช่าเป็นผู้ชำระภาษีได้ หรือคิดรวมเป็นค่าเช่าได้
แม้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกฎหมายใหม่ที่มีการบังคับใช้ไม่กี่ปี แต่การทำความเข้าใจ และหาวิธีบริหารจัดการภาษีอย่างเหมาะสม สามารถช่วยลดภาระภาษีลงได้ไม่มากก็น้อย
เรียบเรียงบทความโดย boarddung.com